เยี่ยมเยียน ‘สมุทรสาคร’ แหล่งขุดทองแรงงานพม่า

เยี่ยมเยียน ‘สมุทรสาคร’ แหล่งขุดทองแรงงานพม่า
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 15 สิงหาคม 2553 19:36 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
กลายเป็นกระแสที่ชาวบ้านร้านตลาดพูดกันกันทั่วเมือง เมื่อสื่อหลายฉบับต่างประโคมข่าวการเพิ่มเมนูภาษาพม่าในตู้เอทีเอ็ม ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งตอนนี้หลายคนขนานนามว่ากันเป็น หงสาวดี ประจำไทยแลนด์ ไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับเหตุผลที่เมืองมหาชัยนี้มีชาวพม่าชุกชุม นับหลักแสน ก็เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปอาหารทะเลจำนวนมาก กอปรกับคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมทำอาชีพประมงหรืองานโรงงานเท่าใดนัก จึงกลายเป็นเหตุที่เจ้าของกิจการต้องชักนำแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้มาทำงานแทน

จากปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เอง จึงถือโอกาสนี้มุ่งหน้าไปยังเมืองมหาชัย เพื่อไปสัมผัสกับชีวิตของดินแดนลูกผสม ไทย-พม่าแห่งนี้ว่า จริงๆ เขามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรกันแน่ และที่สำคัญนอกจากเอทีเอ็มที่โด่งดังแล้ว ณ เมืองชายทะเลแห่งนี้จะมีอะไรที่น่าตื่นอกตื่นใจอีกบ้างหนอ

บุก ตลาดกุ้งถิ่นพม่า!

จุดตั้งต้นแรกของการสำรวจ คือ ‘ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร’ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ‘ตลาดกุ้ง’ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลมหาชัย โดยจากการพูดคุยกับผู้คนคร่าวๆ ทำให้รู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมแรงงานชาวพม่าแหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง

ด้านหน้าของตลาดไม่มีอะไรแตกต่างจากแพอาหารทะเลทั่วไป แต่สิ่งที่ดูสะดุดตามากที่สุด ก็คือ กุ้งนานาชนิด ที่จะมีบรรดาแรงงานชาวพม่า ซึ่งคาดเดาจากรอยของทานาคาบนใบหน้า (แป้งทาหน้าของชาวพม่าที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง) ทำหน้าที่คัดแยกกุ้งกันอย่างสนุกมือ

พอเดินลึกเข้าไปยังหลังตลาด ก็จะพบกับอาคารซึ่งเป็นที่พักของแรงงานชาวพม่า ซึ่งค่อนข้างแออัด มีร้านกาแฟซึ่งเป็นที่นัดพบของเหล่าผู้นิยมสภากาแฟ (แห่งพม่า) สลับกับร้านของชำที่ขายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากพม่า ไม่ว่าจะเป็นของที่ใช้ในในการบริโภค ผ้าโสร่งต่างๆ หรือแม้แต่หนังสืออ่านเล่น ที่จัดพิมพ์เป็นภาษาพม่าทั้งหมด

ด้านข้างของที่พักอาศัย มีแผงขายอาหารพม่าแท้ๆ อยู่ เมื่อไปเมียงมองดูก็จะได้พบกับแกงข้นๆ แบบพม่าอยู่ 3 กะละมัง แบ่งเป็นแกงหมู แกงเครื่องใน และแกงม้าม

นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวยังมีป้ายโฆษณาต่างๆ ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาพม่า ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลัง ไล่เรียงไปถึงเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สาย ติดเรียงรายเต็มไปหมด หรือแม้แต่บนตู้แช่ในร้านของชำ ก็ยังไม่วายถูกปกคลุมไปด้วยภาษาจากดินแดนเพื่อนบ้านทิศตะวันตกของประเทศไทยแห่งนี้

เจ้าของร้านอาหารตามสั่งชาวไทยในละแวกนั้นเล่าให้ฟังถึงสภาพการณ์โดยรวมว่า

“คนพม่าเขาก็กินอาหารไทยบ้างนะ ก็กินเหมือนเรานี่แหละ คือเขาจะอยู่ด้วยกันในตึกข้างหลัง เท่าที่รู้เขาก็มาทำงานถูกกฎหมายนะ อาจจะมีบ้างที่แอบเข้ามา แต่ว่าก็ไม่มากเท่าไร อีกที่หนึ่งที่เขานิยมไปทำงานกันก็บริเวณตลาดคลองครุเพราะที่นั่นมีโรงงานใหญ่”

ได้ยินดังนั้น จึงไม่รีรอที่จะเดินทางไปยังย่านตลาดคลองครุ ซึ่งอยู่ถัดออกไปไม่ไกลนัก

ตลาดคลองครุ ถิ่นผสมไทย-พม่า

ณ ตลาดคลองครุ ดูเผินๆ แล้วมีร้านรวงเหมือนกับตลาดทั่วไป ทั้งร้านตัดผม ร้านขายของ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ แต่จะแปลกไปบ้างที่มีป้ายภาษาพม่าติดอยู่ คู่กับภาษาไทยตามหน้าร้านเหล่านี้ บริเวณนี้จึงเหมือนเป็นสถานที่กลางที่ทั้งคนไทยและคนพม่าต้องมาใช้ร่วมกัน

“คนพม่าก็มาทำงานกันที่นี่นานมากแล้ว นานๆ ทีก็มีตำรวจเข้ามาตรวจบ้าง แต่โดยมากเขาก็มาซื้อของใช้ชีวิตปกติ เราอยู่นี่ก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพราะเขาก็พอพูดไทยได้ เวลามีงานบุญทีเขาก็แต่งตัวแบบบ้านเขาเดินกันเต็มถนนไปหมด” เจ้าของร้านขายยาชาวไทยรายหนึ่งสาธยาย

แต่เมื่อถามไถ่ถึงแหล่งขายหนังสือพิมพ์ หรือร้านเช่าหนังพม่า เจ้าของร้านกลับบอกว่าเขาไม่เคยเห็นมาก่อนและไม่รู้จะไปตามหาที่ไหน เพราะไม่มีอยู่ในตลาดคลองครุเลย จนได้คำตอบจากคนขายลอตเตอรี่ที่อยู่ในบริเวณนั้น

“ส่วนมากเขาดูทีวีดาวเทียมกัน ส่วนพวกหนังพวกเพลงนี่ต้องไปหาตามตลาดนัดนะ ส่วนพวกหนังสือพิมพ์นี่ เขาก็จะมีคนแปล ทำกันเองแจกจ่ายกันเอง คอนเสิร์ตศิลปินพม่านี่นานๆ จะมีครั้ง ไม่บ่อยเท่าไร มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์มาลงที่นี่ ก็เลยมีปัญหากับตำรวจเลย แต่กับคนไทยเราจะไม่ค่อยมายุ่งมากหรอก ขนาดเราเคยทำงานโรงงานกับเขาเวลาพักนี่เราก็เรียกได้ว่าต่างคนต่างอยู่ เราก็ไม่อยากไปมีเรื่องอะไรกับเขาหรอก”

ทีวีดาวเทียมที่เธอพูดถึง คือช่อง MRTV ซึ่งเป็นช่องกลางของชาวพม่าที่เผยแพร่ผ่านจานไทยคมนั่นเอง

พลิกประวัติศาสตร์พม่าในถิ่นไทย

สำหรับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ระหว่างไทย-พม่า คงหาอ่านได้ไม่ยากตามหนังสือเรียนทั่วไป แต่สำหรับเรื่องร่วมสมัย คนที่จะเล่าได้อย่างเห็นภาพที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคนไทยที่อยู่มาก่อนที่แรงงานพม่าจะเข้ามานั่นเอง

สุนทร ตรึงจิตวิลาส เจ้าของร้านทองศรีโต๊ะกัง ที่ให้บริการในย่านคลองครุมานานกว่า 18 ปีแล้ว เปิดเผยว่า ในช่วงแรกที่เปิดร้านแทบจะไม่มีพม่าเลย จนกระทั่ง 10 ปีที่ผ่านมา

“ในช่วงแรกแทบจะไม่มีพม่าเลย จนกระทั่งหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 นั่นแหละ เข้ามากันเยอะมาก เพราะช่วงหลังคนไทยเลือกงาน ไม่ทำประมง ก่อสร้าง หรืองานโรงงาน คนพม่าที่อดทนกว่า ขยันกว่า ค่าจ้างถูกกว่าก็เลยเป็นที่ชื่นชอบของนายจ้าง”

จากคำบอกเล่าของเสี่ยร้านทองคนนี้ ทำให้รู้ว่าปัจจุบันคนท้องถิ่นย้ายออกไปจากสมุทรสาครเป็นจำนวนมาก จนคนไทยกับคนพม่าแทบจะมีจำนวนพอๆ กัน เพราะค่านิยมการส่งลูกเรียนสูงๆ เพื่อไปทำงานบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองหลวง จนเรียกได้ว่าลูกเต้าใครต้องมาทำงานแรงงานรายวันอยู่ ถือได้ว่า ‘เสียฟอร์ม’ มากทีเดียว

ตรงกันข้ามกับแรงงานพม่า ที่อาจเพราะความกดดันจากการมาทำงานต่างถิ่นที่ไม่มีทางให้เลือกมากนัก ในยุคแรกๆ แรงงานพวกนี้ได้ค่าแรงวันละ 70 บาท และบ่อยครั้งก็ถูกไต้ก๋งหลอกไปลงเรือทำให้ชาวพม่ามีนิสัยประหยัดโดยธรรมชาติ เช่น ห้องเช่าแทนที่จะเปิดหลายๆ ห้อง ก็เปิดห้องเดียวนอนกันเป็นสิบคน โดยแยกครึ่งหนึ่งทำงานกะเช้า ครึ่งหนึ่งทำกะดึก ทำให้ไม่ต้องนอนเบียดกันทั้งหมดในครั้งเดียว

ส่วนวิธีสังเกตว่าใครพม่า ใครไทยนั้น สุนทรบอกว่าดูได้ยากมากในปัจจุบัน ถ้าไม่ฟังจากภาษาพูดก็ต้องดูจากอากัปกิริยาที่นอบน้อม เวลายื่นเงินยื่นของจะประคองสองมือ ส่วนเวลามาจ่ายตลาดก็มักจะหิ้วตะกร้าพลาสติกใบใหญ่มาใส่ของ แต่ถ้าจะดูหน้าตาแล้วละก็ถือว่ายากมาก เพราะทั้งพม่า ทั้งมอญ ทั้งกะเหรี่ยง ต่างก็อยู่มานานจนหน้าตาและการแต่งตัวเริ่มกลืนกับคนไทย
สำหรับร้านของสุนทร ในช่วงหลายปีก่อนก็มีการค้าขายกับพม่าอยู่บ้าง จนในระยะหลังราคาทองเริ่มสูงขึ้นลูกค้าจึงน้อยลงไป

“แต่ก่อนเวลาพม่าจะส่งเงินกลับบ้านก็อาศัยซื้อทองแล้วส่งไป หรือไม่ก็ใช้ระบบส่งเงินใต้ดินให้นายหน้า แต่หลังๆ รัฐบาลก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น เดี๋ยวนี้สามารถเปิดบัญชีธนาคารได้แล้ว”

ปัจจุบันนี้ถ้าขึ้นทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง ก็สามารถถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (บัตรสีชมพู) ไปเปิดบัญชีธนาคารได้ ซึ่งนอกจากจะโอนไปให้ญาติตามแนวชายแดนเพื่อแลกกลับมาเป็นเงินสกุลจั๊ดแล้วนำกลับเข้าประเทศ บางบริษัทยังจ่ายค่าแรงผ่านบัญชีธนาคารแบบคนไทยเลยทีเดียว

ส่วน ศุภมาศ สกุลเอี่ยมไพบูลย์ คู่ชีวิตของสุนทร ก็มองในประเด็นของวัฒนธรรมว่าคนพม่าเป็นชาติที่มีศรัทธาในพุทธศาสนามาก

“คนพม่าเขาเก็บตังค์เก่งก็จริงแต่ถึงเวลาทำบุญเขาทำกันจริงจังมากเลยนะ เขาก็ไม่แบ่งแยกด้วยว่านี่วัดของไทยหรือของใคร แถมเวลามีงานวัด คนพม่าก็จะมาเดินเที่ยวเยอะไปหมด เพราะเดี๋ยวนี้เขาอยู่กันแบบถูกกฎหมายกันมากขึ้น ห้างอย่างบิ๊กซี โลตัส พม่าก็เข้าไปเดินกันหมดแล้ว”

หลากวัฒนธรรมในสังคมไทย

เมื่อหันไปถามฝั่งนักวิชาการอย่าง ดร. แล ดิลกวิทยารัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ และศาตราภิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการปรับตัวของคนทำธุรกิจ ทั้งรายใหญ่ๆ ระดับธนาคาร จนถึงรายย่อยอย่างร้านขายยา คลินิกในเมืองมหาชัยที่ต้องเอาใจชาวพม่ามากขึ้น ก็ได้ความว่า หากมองในเชิงธุรกิจง่ายๆ เมื่อต้องการตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มไหนก็อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ากลุ่มนั้น เช่น ก่อนหน้านี้นอกจากประเทศไทยจะมีภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาญี่ปุ่น และอีกหลายภาษาปรากฏให้เห็นในสถานที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง

หลายแห่งเลือกใช้ภาษาเกาหลี ย่านนานาก็มีการใช้ภาษาอาหรับ ต่อมาก็มีการใช้ภาษารัสเซียในห้างสรรพสินค้าบางแห่ง เช่น ยินดีต้อนรับเป็นภาษารัสเซีย ในชุมชนบางแห่งของพัทยา ก็เอาใจลูกค้ามากขึ้น

“มันสะท้อนว่าลูกค้ากลุ่มไหนที่มีความสำคัญ ก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องเอาใจมากขึ้น ชุมชนที่มีพม่าเยอะก็ต้องใช้ภาษาพม่า มองในแง่ธุรกิจ จะมานั่งชาตินิยมอะไรไม่ได้แล้ว เขาต้องแย่งชิงลูกค้า การที่ตู้เอทีเอ็มมีภาษาพม่าไม่ใช่เรื่องแปลก เขาเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ปกติเราไม่เคยถาม ทำไมนานาใช้ภาษาอาหรับ พัทยาใช้ภาษารัสเซีย กลุ่มไหนสำคัญ เราก็พยายามเอาใจคนกลุ่มนั้น”

ดร.แลยังเล่าย้อนไปถึงอดีตอีกว่า สมัยที่ทหารจีไอเข้ามาในประเทศไทย ความบันเทิงต่างๆ เช่นดนตรีอเมริกันก็ต้องเข้ามารองรับความต้องการเป็นเรื่องปกติ

“ผมคิดว่าที่มันดูแปลก เพราะว่าชุมชนพม่าค่อนข้างจะถูกดูถูก เพราะส่วนใหญ่เขาเป็นกรรมกรที่มาทำงานในบ้านเรา ในขณะที่เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมเอาใจญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย เพราะเรายกย่องเขา”

ดร. แลแสดงทัศนะอีกว่า สังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมเดี่ยว แต่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคม เช่น มอญ จีน อาหรับ เวียดนาม แม้กระทั่งนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีเชื้อสายญวน

“ผมว่ามันเป็นเรื่องปกตินะ เราไม่จำเป็นต้องตกใจ ชาวพม่าไม่ใช่เพิ่งมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เราไม่ควรทำลายหรือดูถูกความแตกต่าง เราต้องการความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพื่อค้ำจุนสังคมไทย เพราะเมื่อคนพม่ามีลูกหลานในเมืองไทยก็ต้องส่งเรียนหนังสือในเมืองไทย ในที่สุดเขาก็จะกลายเป็นคนไทย”

……………………………..

ธุรกิจดาวน์โหลดเพลงพม่า
ใครว่าเรื่องเล็ก?

นอกจากทีวีดาวเทียม หนังสือพิมพ์แล้ว สิ่งบันเทิงอีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้จากมนุษย์ทุกคนก็คือ ‘เพลง’ ที่ปัจจุบันนี้เราอาจเห็นแผ่นซีดีเพลงน้อยลง เห็นคนฟังผ่านมือถือหรือไอพ็อดกันมากขึ้น สำหรับชาวพม่าในไทยแล้ว ‘ดิจิตอลดาวน์โหลด’ ก็เป็นสิ่งที่ฮิตไม่แพ้สื่อบันเทิงอื่นๆ

ม.ล.ภาริพงศ์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คลิค-วีอาร์วัน เรดิโอ จำกัด ซึ่งถือลิขสิทธิ์เรื่องดิจิตอลดาวน์โหลดเพลงพม่าในประเทศไทย เล่าว่า จากการที่ปัจจุบันมีคนพม่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีฐานลูกค้าที่ฟังเพลงเหล่านี้กว่าล้านคนเลยทีเดียว

“เรามีคอนเทนต์เพลงพม่าอยู่ประมาณ 5,000 เพลง เราคิดว่าสิ่งบันเทิงหลักของคนพม่าอย่างหนึ่งก็คือโทรศัพท์มือถือ เพราะหลายคนก็พูดไทยไม่ชัด ดูทีวีฟังวิทยุไทยได้ไม่สะดวกนัก พอเราทดลองทำโปรโมตจากไม่กี่เพลงในช่วงแรก ในตอนนี้กลายเป็นรายได้หลักของเราไปเลย เพราะศิลปินกลุ่มนี้เขาดังมาก ผมจำได้ว่าตอนที่พาเข้ามาเซ็นสัญญาที่เมืองไทย แล้วพาไปเดินวัดพระแก้ว คนไทยไม่รู้จัก แต่คนกวาดลานวัดวิ่งเข้ามากรี๊ด (หัวเราะ)”

ม.ล.ภาริพงศ์ยังเพิ่มเติมอีกว่า ข้อดีอย่างหนึ่งของคนพม่าคือสื่อสารกันในกลุ่มรวดเร็ว ดังนั้นการทำอีเวนต์ไม่กี่ครั้ง คนพม่าก็บอกต่อกันเป็นวงกว้างเรียบร้อยแล้ว

แต่แน่นอนว่ากำแพงภาษาเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัญหาในการดาวน์โหลดเพลงของคนพม่า ทางบริษัทจึงต้องใช้ระบบตอบรับโทรศัพท์อัตโนมัติแทนคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องสื่อสารด้วยภาษาไทย อีกจุดที่ถือเป็นแหล่งโปรโมทสินค้าได้ดีที่สุด ก็คือร้านขายของชำ (ของคนพม่า) ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญที่คนพม่าต้องเข้าไปใช้บริการ ดังนั้นเวลามีอะไรพื้นที่ตรงนี้ก็จะถูกใช้เป็นแหล่งกระจายข่าวนั่นเอง

“ตรงนี้มันเหมือนกับคนไทยเวลาไปอยู่ ต่างประเทศนี่แหละ เขาก็จะมีร้านประจำเวลาไปซื้อกะปิ น้ำปลา เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาข่าวอะไรไปติด เขาก็จะรู้กันหมด”
>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว Click
ภาพ : ทีมภาพ Click

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000113121

ใส่ความเห็น